ประวัติตำแหน่ง

ประวัติตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ต่าง ๆ

หมวดหมู่: 

ประวัติตำแหน่งพระราชาคณะที่ พระพุทธพยากรณ์

ประวัติตำแหน่งพระราชาคณะที่ พระพุทธพยากรณ์

สมณศักดิ์ราชทินนามที่ “พระพุทธพยากรณ์” มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งประวัติความเป็นมาโดยสังเขปดังนี้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยกับท่านขรัวอ่อนหรือกล่ำ วัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งมีความชำนาญด้านโหราศาสตร์และฤกษ์ยาม คราวใดเมื่อเสด็จไปราชการทัพ มักจะเสด็จไปให้ท่านตรวจดูฤกษ์ยามสามตาเสมอ ต่อมา ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์ว่างลง ท่านขรัวอ่อนหรือกล่ำ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส จึงพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรในราทินนามที่ “พระครูพุทธพยากรณ์” และทรงพระราชทินนามนี้ต่อมาอีกหลายรูป มีลำดับตั้งแต่รูปที่ ๑ ดังนี้

๑. พระพุทธพยากรณ์(อ่อนหรือกล่ำ) ชาติภูมิไม่ปรากฏ เดิมจำพรรษาอยู่ที่วัดขุนจันทรามาต ได้ย้ายมาเป็นศิษย์พระวชิรกวี(รอด) เจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์ เมื่อพระวชิรกวี มรณภาพลง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ “พระครูพุทธพยากรณ์”มีฐานานุกรมได้ ๒ ตำแหน่ง พระครูสมุห์๑ พระใบฎีกา ๑ ปกครองวัดสืบมาจนมรณภาพ เมื่ออายุได้ ๙๗ ปี

๒. พระครูพุทธพยากรณ์(มั่น) ชาวเมืองปราจีนบุรี ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระวชิรกวี เจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์ ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี และบรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ เมื่อพระครูพระพุทธพยากรณ์(อ่อน) เจ้าอาวาสมรณภาพลง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูพุทธพยากรณ์” รูปที่ ๒ ปกครองวัดสืบมา และมรณภาพเมื่ออายุ ๗๔ ปี

๓. พระครูพระพุทธพยากรณ์(กวย) ชาติภูมิอยู่ตำบลคุ้งเผาถ่าน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เดิมเป็นพระสมุห์ฐานานุกรม ของพระครูพุทธพยากรณ์(มั่น) ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ราชทินนามที่ “พระครูพุทธพยากรณ์” เป็นรูปที่ ๓ ปกครองวัดอัปสรสวรรค์สืบมา

๔. พระครูพุทธพยากรณ์ (เจริญ อุปตสฺโส) ชาติภูมิอยู่ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เดิมเป็นพระสมุห์ ฐานนานุกรมพระครูพุทธพยากรณ์(กวย) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์ และได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูพุทธพยากรณ์” เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๔๙(เคยไปรักษาการ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ)

ต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ราชทินนามที่ “พระพุทธพยากรณ์” เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และได้ปกครองวัดอัปสรสวรรค์สืบต่อมา จนมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔

นับแต่นั้นมาเป็นเวลา ๖๓ ปี สมณศักดิ์ราชทินนามที่ “พระพุทธพยากรณ์” มิได้แต่งตั้งอีกเลย

หมวดหมู่: